“มะรุม”พืชสมุนไพร แต่ไม่ใช่ “ยาวิเศษ”

กระแสรักสุขภาพยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ประชาการไม่น้อยหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น และยังคงมีวี่แววว่าจะสนใจไปอย่างนี้เรื่อยๆขึ้นอยู่กับว่าช่วงไหน "ฮิต"อะไร แต่ที่แน่ๆและยังคงยืนพื้นในความนิยมของคนส่วนใหญ่ ยังคงเป็น "สมุนไพร" โดยในขณะนี้"เทรนด์"ได้มาหยุดอยู่ที่ผักพื้นบ้าน เจ้าของนาม "มะรุม"

"มะรุม"เป็นพื้นพืชบ้านที่มีทั่วทุกภาคของประเทศไทยทำให้มีการเรียกชื่อมะรุมแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น คำว่ามะรุมนี้ เป็นคำเรียกขานของคนภาคกลาง ในขณะที่ฝั่งอีสานบ้านเฮาเอิ้นว่า "ผักอีฮุม  หรือ บักฮุ้ม" ส่วนหมู่เฮาจาวเหนืออู้ว่า "บะค้อนก้อม"ส่วนชาวกระเหรี่ยงแถบกาญจนบุรีเรียก "กาแน้งเดิง" ด้านชายขอบจังหวัด แม่ฮ่องสอนให้ชื่อแก่มันอย่างชวนให้ลิ้มรสว่า "ผักเนื้อไก่"

 

ครัวไทยแต่โบราณนำมะรุมมาปรุงเป็นอาหารหลากรสหลายตำรับ ในขณะที่ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยก็นำแทบทุกส่วนของมะรุม ไม่ส่าจะเป็น ใบ ดอก ฝัก เมล็ด เปลือก ราก ฝัก โดยสรรพคุณทางสมุนไพรในแต่ละส่วนก็มีแตกต่างกันไป

 

ปัจจุบันขณะนี้  ได้มีการโฆษณาสรรพคุณของมะรุมอย่างแพร่หลาย บ้างก็ว่าช่วยต้านมะเร็ง ช่วยเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสุขภาพและสรรพคุณอื่นๆ อีกร้อยแปดพันประการ ทำให้แวดวงผู้รักสุขภาพทั้งหลาย ตื่นตัวและตื่นเต้นอีกครั้งกับสมุนไพรที่ดู เหมือนว่าจะ"มหัศจรรย์" ชนิดนี้ไม่ต่างกับปรากฏการณ์กระชายดำและยอ  ที่บูมเปรี้ยงปร้างช่วงก่อนหน้านี้ และก็เลือนหายไปกับสายลมแล้ว

 

และล่าสุด "กระแสมะรุมฟีเวอร์" ได้แพร่ระบาดจนกระทั่งบริษัทเอกชนหลายแห่งได้ผลิต "แคปซูลมะรุม"ออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก  เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผัก แต่อยากได้คุณประโยชน์ด้านสมุนไพร รวมถึงผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาบำรุงสุขภาพ แต่อยากได้อาหารเสริมเพื่อเป็นการบำรุงทางลัด

 

ภญ.สุภาพร ปิติพรแห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรีซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ใช้แนวการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยเป็นหลัก กล่าวถึงคุณสมบัติของมะรุมว่า มะรุมเป็นผักที่มีสารอาหารที่เหมาะสมกับเยาวชน ที่ขาดอาหารในพื้นที่กันดาร โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี เช่นเยาวชนในประเทศเอธิโอเปีย รวมถึงในพื้นที่ที่เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารอื่นๆ

 

อย่างไรก็ตาม  การบริโภคมะรุม  ประชาชนต้องเข้าใจก่อนว่ามะรุมไม่ได้รักษาโรคได้สารพัดโรค ไม่ใช่ยามหัศจรรย์  หากคือผักพื้นบ้านที่คนไทยใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารมาหลายรุ่นแล้ว ไม่ใช่ยาวิเศษอย่างที่กระแสสังคมเข้าใจ

 

มะรุมมีฤทธิ์ร้อน ก็พอจะช่วยในเรื่องระบบไหวเวียนโลหิต แล้วก็มีความเชื่อว่ามันช่วยเรื่องเบาหวานกับความดันโลหิตสูง  ในส่วนตรงนี้ ต้องพิสูจน์วิจัยกันต่อไป แต่ที่ห่วงก็คือ หากคนเข้าใจว่ามันเป็นยา  ไม่ใช่พืชผักและรับประทานมันในฐานะยารักษาโรค คนจะไม่รับประทานยาแผนปัจจุบันที่ผลิตออกมาเพื่อรักษาโรคนั้นๆโดยตรง

ภญ.สุภาพร กล่าวต่อไปอีกว่า การบริโภคมะรุมนั้นอยากให้บริโภคอย่างเข้าใจ เพราะจริงๆแล้วมะรุมก็ไม่ได้ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด เพราะในตัวมันก็เป็นพิษด้วยเหมือนกัน

 

" อย่างที่บอกมะรุมเป็นพืชร้อน หากสตรีมีครรภ์รับประทานอาจจะทำให้แท้งได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเลือดก็ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากจะทำให้เม็ดเลือดแตกง่าย รวมถึงคนเป็นโรคเกาต์ ก็ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากมะรุมมีโปรตีนสูง "

 

เภสัชกรแห่งโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัดปราจีนบุรียังให้รายละเอียดถึงประสบการณ์ด้านเภสัชรักษาของมะรุมจากที่เธอได้ทำงานกับ หมอพื้นบ้านต่อไปอีกด้วยว่า เนื่องจากมะรุมมีฤทธิ์ร้อนจึงได้มีการนำมาใช้เพื่อแก้อาการปวดเมื่อย เหน็บชา ทำให้โลหิจไหลเวียนได้ดี ในบริบทของหมอพื้นบ้านก็ใช้มะรุมในการควบคุมอาการความดันโลหิตสูง โดยนำยอดมะรุมสด นำมาโขลกคั้นน้ำผสมน้ำผึ้ง ดื้มวันละครั้งแก้ความดันขึ้น ซึ่งหมอพื้นบ้านทางแถบไทยใหญ่ก็ใช้มะรุมคุมความดันเช่นเดียวกัน

 

ส่วนคนที่มีอาการเหน็บชา กินมะรุมก็ช่วยแก้ได้เหมือนกัน  เพราะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีแต่คุณสมบัติก็ไม่ได้โดดเด่นมากนัก นอกจากนี้ดอกอ่อนของมะรุมยังช่วยป้องกันหวัด และมีวิตามินซีสูลอีกด้วย ดีที่สุดคือมองมะรุมเป็นอาหาร ต้องรับประทานอย่างเข้าใจคนเราต้องรับประทานหลายหลาย จะเข้าไปบำรุงหลายกลไกในร่างกายในทุกๆระบบ เราต้องการอาหารหลายอย่างไม่ใช่จากมะรุมอย่างเดียว ขออย่าให้เข้าใจผิด  อย่ามอง มะรุมเป็นยาวิเศษ

 

ต้นมะรุม

ผลที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล และ การดำเนินชีวิตในประจำวันที่ถูกต้อง